Versailles, Treaty of (1919)

สนธิสัญญาแวร์ซาย (พ.ศ. ๒๔๖๒)

สนธิสัญญาแวร์ซายมีชื่อเป็นทางการว่า “สนธิสัญญาสันติภาพระหว่างประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรกับเยอรมนี” (Treaty of Peace between the Allied and Associated Powers and Germany) ลงนามเมื่อวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ณ ห้องโถงกระจก (Hall of Mirrors) ในพระราชวังแวร์ซายประเทศฝรั่งเศสเพื่อยุติสงครามโลกครั้งที่ ๑ (First World War)* อย่างเป็นทางการ เป็นสนธิสัญญาที่สำคัญที่สุดและมีปัญหามากที่สุดในบรรดาสนธิสัญญาทั้ง ๕ ฉบับของสงครามโลกครั้งที่ ๑ เนื่องจากสนธิสัญญาฉบับนี้มีบทลงโทษเยอรมนีซึ่งเป็นฝ่ายแพ้สงครามอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านกายภาพ เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมจนเกินกว่าความสามารถของเยอรมนีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขได้อย่างครบถ้วน เยอรมนีและอีกหลายประเทศจึงเห็นว่าเป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรม และการบังคับใช้สนธิสัญญาฉบับนี้ก็มีปัญหามาโดยตลอดนอกจากนี้ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler)* ผู้นำพรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมันหรือพรรคนาซี (National Socialist German Worker’s Party–NSDAP; Nazi Party)* ยังได้นำสนธิสัญญาฉบับนี้ไปเป็นข้ออ้างในการละเมิดเงื่อนไขต่างๆรวมทั้งการสร้างอำนาจและความยิ่งใหญ่ให้แก่เยอรมนีในช่วงทศวรรษ ๑๙๓๐ ด้วย จนทำให้สงครามโลกครั้งที่ ๒ (Second World War)* เกิดขึ้นใน ค.ศ. ๑๙๓๙ อย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สนธิสัญญาแวร์ซายจึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่ ๒

 การสู้รบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ระหว่างฝ่ายมหาอำนาจสัมพันธมิตร (Allied Powers)* กับฝ่ายมหาอำนาจกลาง (Central Powers)* ซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ค.ศ. ๑๙๑๔ ได้ยุติลงเมื่อสัญญาสงบศึก (Armistice)* ระหว่างผู้แทนของทั้ง ๒ ฝ่ายมีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ค.ศ. ๑๙๑๘หลังจากนั้นมหาอำนาจสัมพันธมิตรได้ตกลงกันว่าจะจัดให้มีการประชุมเจรจาเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพขึ้น ณ กรุงปารีสในต้น ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยจะจัดทำสนธิสัญญาแยกกันรวม ๕ ฉบับ ในการนี้ประธานาธิบดีวูดโรว์วิลสัน (Woodrow Wilson) แห่งสหรัฐอเมริกาเดินทางมาร่วมเจรจาด้วยตนเอง ฉะนั้นเมื่อวิลสันมาถึงกรุงปารีสเรียบร้อยแล้ว การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส (Paris Peace Conference)* จึงเริ่มขึ้นในวันที่ ๑๘ มกราคม ค.ศ. ๑๙๑๙ โดยมีพิธีเปิดประชุมที่ห้องโถงนาฬิกา (La Salle de l’Horloge) ของกระทรวงการต่างประเทศฝรั่งเศสในกรุงปารีส ในตอนแรกมีผู้แทน ๗๐ คนจาก ๒๗ ประเทศเข้าร่วมประชุม โดยเยอรมนี ออสเตรีย ฮังการี และประเทศพันธมิตรของฝ่ายมหาอำนาจกลางไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วย ส่วนรัสเซียซึ่งอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรมาแต่เริ่มแรกก็ไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมประชุมด้วยเช่นกันเพราะเกิดการปฏิวัติเดือนตุลาคม (October Revolution)* ขึ้นภายในประเทศใน ค.ศ. ๑๙๑๗ รัสเซียจึงได้ทำสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ (Treaty of Brest-Litovsk)* กับเยอรมนีในต้นเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๑๘ เพื่อถอนตัวจากสงครามโดยที่สงครามโลกครั้งที่ ๑


ยังไม่ได้ยุติลง ผู้นำมหาอำนาจสัมพันธมิตรจึงไม่ได้เชิญรัสเซียเข้าร่วมประชุมด้วย เพราะถือว่าไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับสงครามครั้งนี้ ทำให้รัสเซียไม่พอใจเป็นอย่างมาก เพราะในสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ เยอรมนีได้เรียกร้องสิ่งตอบแทนจากรัสเซียอย่างรุนแรงรัสเซียจึงต้องการสิ่งที่สูญเสียไปกลับคืนมาจากการเจรจาสันติภาพครั้งนี้ ความไม่พอใจดังกล่าวมีผลกระทบอันยาวนานต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของยุโรปในเวลาต่อมา

 หลังพิธีเปิดการประชุมแล้ว การประชุมสันติภาพได้ย้ายไปประชุมที่พระราชวังแวร์ซาย ชานกรุงปารีสโดยจัดแบ่งการประชุมออกเป็น ๒ ส่วน คือ การประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพ และการประชุมเพื่อจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติ (League of Nations)* ตามข้อเสนอที่ ๑๔ ในหลักการ ๑๔ ข้อ (Fourteen Points)* ของประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีงานหลักคือ การจัดทำกติกาสัญญาสันนิบาตชาติ (Covenant of the League of Nations)* ที่จะนำไปผนวกไว้เป็นส่วนหนึ่งของสนธิสัญญาสันติภาพทุกฉบับในการประชุมทั้ง ๒ ส่วนนั้น แต่ละส่วนได้มีการจัดแบ่งเป็นการประชุมใหญ่และการประชุมย่อย รวมทั้งมีการจัดตั้งคณะกรรมาธิการและคณะกรรมการชุดต่างๆขึ้นอีกหลายคณะ อย่างไรก็ดี ผู้ที่มีบทบาทครอบงำเหนือการประชุมทุกคณะคือ ผู้นำ ๓ มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร ได้แก่ ชอร์ช เกลมองโซ (Georges Clémenceau)* นายกรัฐมนตรีฝรั่งเศส เดวิด ลอยด์ จอร์จ (David Lloyd George)* นายกรัฐมนตรีอังกฤษและประธานาธิบดีวิลสันแห่งสหรัฐอเมริกา ส่วนวิตโตรีโอ เอมานูเอล ออร์ลันโด (Vittorio Emanuel Orlando)* นายกรัฐมนตรีอิตาลี แม้จะได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งใน “ผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่” (BigFour) ของฝ่ายสัมพันธมิตรแต่เขาก็มีบทบาทไม่มากนัก และในภายหลังเกือบจะไม่มีบทบาทเลย

 สำหรับการประชุมเพื่อจัดทำสนธิสัญญาสันติภาพซึ่งเป็นวัตถุประสงค์สำคัญที่สุดของการประชุมสันติภาพที่กรุงปารีสนั้น มหาอำนาจตกลงกันว่าจะพิจารณาบทลงโทษเยอรมนีก่อน ด้วยเหตุนั้น การจัดทำสนธิสัญญาแวร์ซายจึงเริ่มขึ้นด้วยการประชุมของ ๕ มหาอำนาจผู้นำฝ่ายสัมพันธมิตรที่เรียกว่า “การประชุมของผู้แทนทั้งสิบ” (Council of Ten) ซึ่งประกอบด้วยผู้แทนของอังกฤษฝรั่งเศสสหรัฐอเมริกา อิตาลีและญี่ปุ่นประเทศละ ๒ คน ผู้แทนเหล่านี้ได้ประชุมร่วมกันหลายครั้งเพื่อพิจารณาบทลงโทษ เงื่อนไขต่าง ๆ และโครงสร้างของสนธิสัญญา ต่อมาญี่ปุ่นได้ถอนตัวออกจากที่ประชุมจึงเหลือเพียงผู้แทนของผู้ยิ่งใหญ่ทั้งสี่และชื่อของที่ประชุมก็เปลี่ยนเป็น “การประชุมของมหาอำนาจทั้งสี่” (Council of Four) ผู้นำของทั้ง ๔ ประเทศได้ประชุมร่วมกันในลักษณะ “การประชุมปิด” (closed session) เกือบทั้งหมดเป็นการประชุมลับเฉพาะเพื่อตัดสินปัญหาสำคัญ ๆ ที่จะนำเสนอต่อที่ประชุมใหญ่เพื่อการอนุมัติที่ประชุมนี้จึงมีอำนาจเหนือที่ประชุมอื่นทั้งหมดเงื่อนไขและบทลงโทษสำคัญๆต่างๆนอกเหนือจากปัญหาอิตาลีแล้วถูกตัดสินโดยการประชุมส่วนตัวระหว่างผู้นำ ๓ มหาอำนาจ คือ เกลมองโซ ลอยด์ จอร์จและวิลสันเท่านั้น ส่วนผู้แทนประเทศอื่น ๆ แม้จะได้เข้าร่วมการประชุมใหญ่ประจำสัปดาห์ซึ่งเป็นการอภิปรายปัญหาทั่วไปแต่ก็ไม่มีสิทธิตัดสินใจในเรื่องใด ๆ ทั้งสิ้น ในขณะที่ข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการและคณะกรรมการชุดต่าง ๆ อาจได้รับการรับฟังจากมหาอำนาจและนำบางส่วนไปผนวกไว้ในสนธิสัญญาฉบับต่าง ๆ บ้างก็ตาม

 อย่างไรก็ดี การประชุมระหว่างมหาอำนาจก็ดำเนินไปด้วยความยากลำบาก บางครั้งผู้นำเหล่านั้นถึงกับขัดเคืองไม่พูดกัน และเดินออกจากที่ประชุมไปก็มี เนื่องจากพวกเขามีความเห็นและความต้องการที่แตกต่างและขัดแย้งกันตลอดเวลา อย่างเช่นเกลมองโซต้องการให้กำหนดบทลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงทั้งในด้านการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม การริบและยึดคืนดินแดน การทำให้ดินแดนเยอรมนีด้านที่ติดกับฝรั่งเศสเป็นเขตปลอดทหารในระยะเวลาอันยาวนานที่สุดเท่าที่จะทำได้ รวมทั้งการลงโทษทางเศรษฐกิจการทหารและอื่น ๆ โดยให้เหตุผลว่าฝรั่งเศสได้รับความเสียหายจากการทำสงครามกับเยอรมนีในครั้งนี้มากกว่าประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะทางตอนเหนือของประเทศถูกทำลายเสียหายอย่างหนัก เยอรมนีจึงสมควรชดใช้ให้แก่ฝรั่งเศสมากกว่าประเทศอื่น การที่ฝรั่งเศสต้องการลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงเช่นนี้เพราะต้องการให้เยอรมนีอ่อนแอจนไม่สามารถรุกรานฝรั่งเศสได้อีกในอนาคต เนื่องจากประเทศทั้งสองมีพรมแดนติดต่อกัน เกลมองโซได้พยายามอธิบายเหตุผลให้มหาอำนาจอื่นเข้าใจในเรื่องนี้โดยย้ำว่า “สหรัฐอเมริกาอยู่ห่างไกล ทั้งยังถูกปกป้องโดยมหาสมุทร ส่วนอังกฤษนั้นแม้แต่จักรพรรดินโปเลียนที่ ๑ (Napoleon I)* เองก็ยังไม่เคยสัมผัส ประเทศของท่านทั้งสองได้รับการปกป้อง ส่วนเรานั้นมิได้รับการปกป้องแต่อย่างใด” ความต้องการของเขาก็ไม่ได้รับการตอบสนองทั้งหมด บางครั้งยังถูกตอบโต้อย่างรุนแรงจากวิลสัน อย่างไรก็ดี เกลมองโซบุรุษผู้มีความมุ่งมั่นและเฉียบขาดมักตกอยู่ท่ามกลางความยากลำบากใจระหว่างความต้องการของวิลสันกับแรงกดดันอย่างหนักจากบรรดานายพลที่ผ่านการสู้รบกับเยอรมนีในสงครามโลกครั้งนี้มาแล้ว อย่างเช่น นายพลแฟร์ดีนอง ฟอช (Ferdinand Foch)* เพราะนายพลเหล่านั้นต้องการให้ฝรั่งเศสลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงที่สุดเท่าที่จะกระทำได้

 ในขณะเดียวกันลอยด์ จอร์จกลับมีความเห็นว่าอังกฤษควรลงโทษเยอรมนีแต่พอสมควรทั้งในเรื่องค่าปฏิกรรมสงคราม การลดกำลังกองทัพ และการยึดคืนดินแดนจากเยอรมนี ทั้งนี้ เพราะอังกฤษไม่ได้รับความเสียหายจากการโจมตีของเยอรมนีมากเท่ากับฝรั่งเศส เขาจึงต้องการให้เยอรมนีหลังสงครามสามารถฟื้นตัวกลับมาเป็นคู่ค้าของอังกฤษได้โดยเร็ว ทั้งยังต้องการให้เยอรมนีทำหน้าที่เป็นด่านป้องกันการขยายตัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ในยุโรป ซึ่งเขาเห็นว่าเป็นภัยคุกคามที่น่ากลัวกว่าเยอรมนีที่พ่ายแพ้สงครามมากนัก โดยทั่วไปในตอนแรกเขาจึงไม่สนับสนุนเกลมองโซเท่าใดนัก และมักเสนอให้ดำเนินการลงโทษ


เยอรมนีโดยยึดหลัก ๑๔ ข้อของประธานาธิบดีวิลสันเป็นเกณฑ์ โดยช่วยทำให้ข้อกำหนดต่าง ๆ ในสนธิสัญญาไม่รุนแรงเกินไป ทำให้เขามีปัญหาขัดแย้งกับเกลมองโซหลายครั้ง อย่างไรก็ดี ลอยด์ จอร์จก็เป็นนักการเมืองที่ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งทั่วไปใน ค.ศ. ๑๙๑๘ โดยใช้วลีที่ว่า “จับไกเซอร์มาแขวนคอ” (Hang the Kaiser) และ “จะต้องทำให้เยอรมนีชดใช้” (Make Germany Pay) เป็นคำขวัญในการรณรงค์หาเสียงเพื่อให้สอดคล้องกับความรู้สึกและอารมณ์ของประชาชนชาวอังกฤษในยามสงคราม ต่อมาเขาจึงจำเป็นต้องประนีประนอมกับเกลมองโซในประเด็นที่สำคัญ ๆ บ่อยครั้งเพื่อความสมเหตุสมผลและเพื่อรักษาคำมั่นสัญญาที่ให้แก่ประชาชน รวมทั้งเพื่อทำให้การประชุมเจรจาดำเนินต่อไปได้ ด้วยเหตุนั้น ข้อเสนอของเกลมองโซจึงได้รับชัยชนะเป็นส่วนใหญ่ แม้ว่าจะได้มีการลดทอนลงไปบ้างก็ตาม

 ส่วนประธานาธิบดีวิลสันซึ่งเป็นเจ้าของ “หลักการ ๑๔ ข้อ” หรือ “ปรัชญาวิลสัน” (Wilsonian Philosophy)* นั้นต้องการให้การประชุมเจรจาดำเนินไปตามหลักการดังกล่าวอย่างเคร่งครัด ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะให้มีการจัดตั้งองค์การสันนิบาตชาติขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมจากการประชุมสันติภาพครั้งนี้ เขาจึงไม่สนใจปัญหาอื่นใดทั้งสิ้น ทั้งยังไม่เคยเดินทางไปเยี่ยมสมรภูมิในฝรั่งเศสที่ทหารอเมริกันหลายแสนคนเสียชีวิตจากการสู้รบตามที่เกลมองโซต้องการ แม้ว่าเขาจะเดินทางมาถึงฝรั่งเศสก่อนการประชุมถึง ๑ เดือนครึ่งก็ตาม ทำให้เกลมองโซรู้สึกผิดหวังในตัววิลสันเป็นอย่างมาก เพราะเขาต้องการให้วิลสันได้เห็นอย่างชัดเจนว่า กองทัพเยอรมันได้กระทำทารุณกรรมต่อทหารอเมริกันอย่างไรบ้าง นอกจากนี้ เกลมองโซก็ไม่สนใจปรัชญาวิลสันเท่าใดนัก วิลสันจึงมักมีปัญหาขัดแย้งกับเกลมองโซตลอดเวลา จนบางครั้งคนทั้งสองถึงกับไม่พูดกันเป็นเวลาหลายวัน อย่างไรก็ดี โดยเหตุที่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้ชี้ชะตาของสงครามโลกครั้งที่ ๑ข้อเสนอของวิลสันในเรื่องการจัดทำกติกาสันติบาตชาติเพื่อผนวกไว้ในสนธิสัญญาทุกฉบับจึงได้รับการปฏิบัติตามเป็นส่วนใหญ่

 ส่วนออร์ลันโดต้องการให้อิตาลีได้รับดินแดนตริเอสเต (Trieste) ทิโรลใต้ (SouthTirol) และตอนเหนือของดัลเมเชีย (Dalmatia) ตามที่ตกลงกันไว้ในสนธิสัญญาลอนดอน (Treaty of London)* ค.ศ. ๑๙๑๕ ที่นำอิตาลีเข้าสู่สงครามเท่านั้นโดยไม่สนใจปัญหาอื่นใด และย้ำข้อเสนอนี้ต่อที่ประชุมตลอดเวลา แต่ถูกประธานาธิบดีวิลสันขัดขวางเพราะเห็นว่าขัดกับหลักการการเลือกกำหนดการปกครองตนเองของประชาชาติ (nationalself-determination) ออร์ลันโดจึงหันไปสนับสนุนข้อเรียกร้องของฝรั่งเศสและอังกฤษอย่างมาก เพราะหวังว่าประเทศทั้งสองจะยอมให้ในสิ่งที่อิตาลีต้องการ แต่เมื่ออิตาลีไม่ได้รับดินแดนเหล่านั้น รวมทั้งไม่ได้รับเมืองฟีอูเม (Fiüme)* ในทะเลเอเดรียติก (Adriatic) ด้วย ออร์ลันโดก็ไม่พอใจอย่างหนัก เขากับผู้แทนอิตาลีทั้งคณะจึงเดินออกจากที่ประชุมหลังการเจรจาสันติภาพเริ่มขึ้นไม่นานนัก และกลับเข้ามาใหม่เมื่อการยกร่างสนธิสัญญาเสร็จสิ้น

 ในที่สุดการยกร่างสนธิสัญญาสันติภาพกับเยอรมนีซึ่งเขียนโดยมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมดก็เสร็จสิ้นในเดือนเมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ สนธิสัญญาฉบับนี้เป็นเอกสารที่ค่อนข้างยาวมาก โดยประกอบด้วยเนื้อหาสาระ ๑๕ ตอน รวม ๔๔๐ มาตรา ตอนที่ ๑ ว่าด้วยกติกาสันนิบาตชาติ ซึ่งเป็นเสมือนกฎบัตรขององค์การระหว่างประเทศที่จะจัดตั้งขึ้นภายหลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ โดยเยอรมนีจะไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าเป็นสมาชิกขององค์การจนกว่าจะถึง ค.ศ. ๑๙๒๖ เมื่อได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาสันติภาพครบถ้วนแล้ว ส่วนตอนที่ ๒–๑๒ ว่าด้วยบทลงโทษเยอรมนี ตอนที่ ๑๓ ว่าด้วยการจัดตั้งองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Office) ตอนที่ ๑๔ ว่าด้วยมาตรการค้ำประกัน และตอนที่ ๑๕ ว่าด้วยมาตรการทั่วไป สำหรับบทลงโทษเยอรมนีมีสาระสำคัญดังนี้

 ๑. เยอรมนีต้องยอมรับว่าเป็นผู้ก่อสงครามขึ้นแต่ผู้เดียว ฉะนั้น เยอรมนีจึงต้องชดใช้ค่าเสียหายทั้งหมดให้แก่ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรที่เข้าร่วมในสงครามทั้งในด้านการทหารและพลเรือน

 ๒. สนธิสัญญาได้กำหนดให้ตัดเขตแดนเยอรมนีออกไปเป็นจำนวน๖๕,๐๐๐ตารางกิโลเมตรพร้อมทั้งประชากรราว ๗,๐๐๐,๐๐๐ คน เพื่อคืนหรือยกให้แก่ประเทศต่างๆในฝ่ายสัมพันธมิตรคือในยุโรปตะวันตกเยอรมนีคืนแคว้นอัลซาซ-ลอร์แรน (Alsace-Lorraine)* ที่ได้ไปตามสนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต (Treaty ofFrankfurt)* ค.ศ. ๑๘๗๑ ให้แก่ฝรั่งเศสและเพื่อชดเชยกับการทำลายเหมืองถ่านหินแหล่งต่าง ๆของฝรั่งเศส เยอรมนีต้องยกผลผลิตทั้งหมดของเหมืองถ่านหินในแคว้นซาร์ (Saar) ให้แก่ฝรั่งเศส พร้อมทั้งให้ส่งมอบแคว้นนี้ให้อยู่ในความดูแลของสันนิบาตชาติเป็นเวลา ๑๕ ปี หลังจากนั้นสันนิบาตชาติจะจัดให้มีการแสดงประชามติเพื่อตัดสินอนาคตของแคว้นนี้ขณะเดียวกันเยอรมนียกมอเรสเน (Moresnet) และออยเพน-มัลเมดี (Eupen-Malmédy) ให้แก่เบลเยียม ซึ่งภายในเวลา ๖ เดือนภายหลังการรับมอบ เบลเยียมจะต้องจัดให้มีการแสดงประชามติในออยเพน-มัลเมดี เพื่อให้ประชากรในแคว้นทั้งสองตัดสินใจว่าจะอยู่กับเบลเยียมต่อไปหรือกลับมาอยู่กับเยอรมนี ส่วนชเลสวิกตอนเหนือ (Northern Schleswig) มหาอำนาจยกให้แก่เดนมาร์ก

 ในยุโรปตะวันออก เยอรมนีต้องยอมรับเอกราชของเชโกสโลวะเกีย (Czechoslovakia) และโปแลนด์พร้อมทั้งยกเลิกสิทธิเหนือดินแดนและตำแหน่งต่าง ๆ ในโปแลนด์ทั้งหมดทั้งยังต้องยกส่วนหนึ่งของอัพเพอร์ ไซลีเซีย (Upper Silesia) ให้แก่โปแลนด์ ส่วนที่เหลือจะถูกกำหนดโดยการแสดงประชามติของประชาชนว่าต้องการจะอยู่กับผู้ใด นอกจากนี้เยอรมนียังต้องยกมณฑลโพเซน (Posen) หรือโพซนาน (Poznan) ให้โปแลนด์เป็นการถาวร ในขณะที่พอเมอเรเนีย (Pomerania) ซึ่งมีชาวโปลอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่และเคยเป็นของโปแลนด์ในอดีตก็ตกเป็นของโปแลนด์ด้วยเพื่อให้โปแลนด์มีทางออกทะเลโดยผ่านดินแดนแห่งนี้ซึ่งต่อมาเรียกว่า “ฉนวนโปแลนด์” (PolishCorridor) ส่วนนครดานซิกหรือกดานสก์ (Danzig; Gdansk)* เมืองท่าสำคัญของเวสต์ปรัสเซีย (West Prussia) รวมทั้งดินแดนที่อยู่ใกล้เคียงและดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำวิสตูลา (Vistula) ริมฝั่งทะเลบอลติก (Baltic) ต้องยกให้แก่สันนิบาตชาติเพื่อจัดตั้งเป็นเสรีนครดานซิก (Free City of Danzig) เพราะว่าประชากรเกือบทั้งหมดเป็นชาวเยอรมัน สนธิสัญญายังระบุว่าเส้นพรมแดนระหว่างเยอรมนีกับโปแลนด์จะถูกกำหนดโดยผลการแสดงประชามติ สภาพทางภูมิศาสตร์ และเงื่อนไขทางเศรษฐกิจของประชากรที่อาศัยอยู่ในแถบนั้น นอกจากนี้ เยอรมนียังต้องยกดินแดนเมเมิล (Memel) ให้แก่ลิทัวเนีย (Lithuania) อีกด้วย

 ๓. สนธิสัญญาห้ามเยอรมนีรวมตัวกับออสเตรียในอนาคต และเยอรมนีต้องส่งมอบรัฐริมฝั่งทะเลบอลติกทั้งสามที่ได้มาจากรัสเซียตามสนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์ คือ เอสโตเนีย (Estonia) ลัตเวีย (Latvia) และลิทัวเนียให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรเพื่อให้เอกราชแก่รัฐเหล่านี้แทนการส่งคืนให้แก่รัสเซีย ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามหลักการการเลือกกำหนดการปกครองตนเองของวิลสัน

 ๔. เยอรมนีต้องยกอาณานิคมโพ้นทะเลของตนทั้งหมดที่มีอยู่ก่อนสงครามโลกครั้งที่๑ให้เป็นดินแดนในอาณัติของสันนิบาตชาติ โดยสันนิบาตชาติจะมอบโตโกแลนด์ (Togoland) และแคเมอรูน (Cameroon) ให้ฝรั่งเศสเป็นผู้ดูแลมอบรูอันดา (Ruanda)และอูรุนดี (Urundi) ให้แก่เบลเยียม ในขณะที่ดินแดนแอฟริกาตะวันตกเฉียงใต้ของเยอรมนี(GermanSouth-West Africa) ตกเป็นของแอฟริกาใต้ (South Africa) ส่วนอังกฤษได้ดูแลแอฟริกาตะวันออกของเยอรมนี (German East Africa) นอกจากนี้เพื่อเป็นการชดเชยกับการที่เยอรมนีโจมตีดินแดนของโปรตุเกสในแอฟริกา โปรตุเกสได้รับโมซัมบิก (Mozambique) ตอนเหนือไปดูแล ส่วนในเอเชียตะวันออก ฝ่ายสัมพันธมิตรยก มณฑลชานตง (Shandong) ในจีนให้แก่ญี่ปุ่นแทนที่จะให้แก่จีน รวมทั้งยกดินแดนของเยอรมนีในมหาสมุทรแปซิฟิกที่อยู่เหนือเส้นศูนย์สูตรให้แก่ญี่ปุ่นด้วย ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนที่ญี่ปุ่นอยู่ในฝ่ายสัมพันธมิตรและสนับสนุนการจัดตั้งสันนิบาตชาติในขณะที่ดินแดนในมหาสมุทรแปซิฟิกใต้เส้นศูนย์สูตรลงมาตกเป็นของออสเตรเลีย ยกเว้นซามัวของเยอรมนี (German Samoa) ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรยกให้นิวซีแลนด์

 ๕. เกี่ยวกับการลดกำลังกองทัพ มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรได้วางมาตรการลดและควบคุมกำลังกองทัพเยอรมันไว้อย่างเข้มงวดรอบด้าน เพื่อทำให้เยอรมนีอ่อนแอจนไม่สามารถก่อสงครามได้อีกในอนาคต และเพื่อเป็นการส่งเสริมการลดอาวุธของประเทศต่างๆ ในเวลาเดียวกันด้วย โดยได้กำหนดให้เยอรมนีมีกำลังพลในกองทัพรวมกันทั้งสิ้นไม่เกิน ๑๐๐,๐๐๐ คน และต้องไม่มีการเกณฑ์ทหาร (Conscription)* เพิ่มทั้งยังกำหนดให้กองทัพบกมีเพียง ๗ กองพล และ ๓ กองพันเท่านั้นให้ยกเลิกระบบเสนาธิการทหารกลางและลดจำนวนโรงเรียนฝึกอบรมนายทหารให้เหลือเพียง ๓โรงพร้อมทั้งกำหนดเวลาประจำการและการเข้มงวดในการเกษียณอายุราชการของพลทหารและนายทหารทั้งนี้เพื่อป้องกันไม่ให้กองทัพเยอรมันฟื้นตัว นอกจากนี้สนธิสัญญายังกำหนดให้ยุบเลิกกองทัพอากาศและลดกำลังกองทัพเรือให้เหลือน้อยที่สุด โดยไม่ให้มีเรือดำน้ำและเครื่องบินรบแต่ยอมให้มีเรือรบได้เพียง ๖ ลำเรือตอร์ปิโด ๑๒ ลำ และอนุญาตให้มียุทโธปกรณ์เบาในจำนวนจำกัดส่วนเรือรบที่เหลือเยอรมนีต้องปลดอาวุธและส่งมอบให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร ในขณะเดียวกันสนธิสัญญาก็อนุญาตให้เยอรมนีดัดแปลงเรือที่ใช้สนับสนุนการรบจำนวน ๓๒ ลำ ให้เป็นเรือสินค้าได้ห้ามทำการค้าอาวุธและประกอบอุตสาหกรรมผลิตอาวุธรวมทั้งวัสดุอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอาวุธ ในการลดอาวุธและจำกัดกำลังกองทัพดังกล่าว เยอรมนีจะต้องดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๒๐

 สนธิสัญญายังกำหนดให้ไรน์แลนด์ (Rhineland) เป็นเขตปลอดทหารถาวร ในการนี้เยอรมนีต้องรื้อถอนป้อมค่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่ในไรน์แลนด์และอาณาบริเวณใกล้เคียงที่อยู่ทางด้านตะวันออกของแม่น้ำไรน์ออกให้หมด ขณะที่โครงสร้างทางการทหารและป้อมค่ายบนเกาะเฮลิโกลันด์ (Heligoland) และดืน (Düne)ต้องถูกทำลายให้หมดเช่นกัน

 ๖. เยอรมนีต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามจำนวนมหาศาลให้แก่ประเทศฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อชดเชยค่าเสียหายทั้งหมดที่เกิดจากการรุกรานของเยอรมนีและพันธมิตรในฝ่ายมหาอำนาจกลาง ซึ่งฝ่ายสัมพันธมิตรยังไม่ได้กำหนดจำนวนที่แน่นอนในการประชุมที่แวร์ซาย แต่ได้ประเมินไว้ในสนธิสัญญาว่าเยอรมนีจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามราว ๒๐,๐๐๐ ล้าน มาร์คทองคำซึ่งอาจชำระในรูปของเงินสดทองคำสินค้า เรือและอื่น ๆ ค่าปฏิกรรมสงครามนี้ ฝ่ายสัมพันธมิตรจะนำไปเป็นค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ในการยึดครองเยอรมนีด้วยมีการกำหนดว่า จะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการค่าปฏิกรรมสงคราม” (Reparation Commission) ขึ้น ใน ค.ศ. ๑๙๒๑ เพื่อทำหน้าที่กำหนดจำนวนเงินค่าปฏิกรรมสงครามที่แน่นอนที่เยอรมนีจะต้องจ่ายให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตรโดยพิจารณาจากทรัพยากรและความสามารถในการจ่ายเงินของเยอรมนี เมื่อพิจารณาเสร็จแล้ว คณะกรรมาธิการชุดนี้จะอนุญาตให้เยอรมนีรับทราบและมีส่วนในการตัดสินใจด้วย (ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๑ คณะกรรมาธิการได้ประกาศว่า เยอรมนีจะต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามทั้งสิ้นจำนวน ๖,๖๐๐ ล้านปอนด์สเตอร์ลิง หรือ ๑๓๒,๐๐๐ ล้านมาร์คทองคำให้แก่ฝ่ายสัมพันธมิตร)

 ๗. เพื่อเป็นการค้ำประกันว่าเยอรมนีจะไม่บิดพลิ้วความรับผิดชอบ มีการกำหนดให้ฝ่ายสัมพันธมิตรส่งกองทัพเข้าไปยึดครองไรน์แลนด์และดินแดนที่ติดต่อกันทางด้านตะวันออกของแม่น้ำไรน์เป็นเวลา ๑๕ ปี เมื่อครบกำหนด ๕ ปีแล้ว หากเยอรมนีไม่ก่อการรุกรานหรือทำสงครามขึ้นอีก ฝ่ายสัมพันธมิตรจะเริ่มดำเนินการถอนทัพออกทุก ๕ ปีจนครบ ๑๕ ปี และในระหว่างการถอนทัพ หากเยอรมนีไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญา ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะส่งกองทัพกลับเข้าไปทำการยึดครองอีกทันที

 เนื้อหาสาระของสนธิสัญญาได้ก่อให้เกิดปฏิกิริยาจากเยอรมนีทันที โดยเฉพาะเมื่อคณะผู้แทนเยอรมนีของสาธารณรัฐไวมาร์ (Weimar Republic)* ที่มี อุลริช กราฟ ฟอน บรอคดอร์ฟ-รันท์เซา (Ulrich Graf von Brockdorff-Rantzau) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นหัวหน้าเดินทางมาถึงพระราชวังแวร์ซายในวันที่ ๒๙ เมษายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ตามคำเชิญของฝ่ายสัมพันธมิตร เพื่อรับทราบสนธิสัญญาฉบับนี้พวกเขาต่างขมขื่นและโกรธแค้นมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรเป็นอย่างมากที่ลงโทษเยอรมนีอย่างรุนแรงในทุก ๆ เรื่องโดยปราศจากการรู้เห็นหรือการสอบถามเยอรมนีเกี่ยวกับข้อเท็จจริงแต่ประการใดแม้ว่าเยอรมนีจะได้รับอนุญาตให้เสนอข้อโต้แย้งเป็นลายลักษณ์อักษรได้ก็ตาม ในวันที่ ๗ พฤษภาคม ซึ่งเป็นวันที่ฝ่ายสัมพันธมิตรกำหนดให้คณะผู้แทนเยอรมนีเข้าไปในที่ประชุมใหญ่เพื่อรับทราบสนธิสัญญาอย่างเป็นทางการ บรอคดอร์ฟ-รันท์เซาตอบโต้ว่าเยอรมนีจะไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้อย่างแน่นอนเพราะมีหลายส่วนที่เป็นการกล่าวหาและเรียกร้องจากเยอรมนีอย่างรุนแรงเกินความเป็นจริง เป็นสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมและหมิ่นเกียรติเยอรมนี เขาเรียกร้องให้มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรแก้ไขสนธิสัญญาบางมาตราให้เบาลงพอที่เยอรมนีจะรับได้ โดยเฉพาะมาตราที่บีบบังคับให้เยอรมนีเป็นผู้รับผิดชอบในการก่อสงครามแต่ผู้เดียว และมาตราที่ว่าด้วยการจ่ายค่าปฏิกรรมสงคราม รวมทั้งการลดกำลังกองทัพของเยอรมนี ทั้งขอให้เยอรมนีได้มีส่วนร่วมในการเจรจาแก้ไขสนธิสัญญาในมาตราเหล่านั้นด้วย นอกจากนี้เขายังอ้างว่าข้อความในสนธิสัญญาบางมาตราไม่เป็นไปตามหลักการ ๑๔ ข้อ ของประธานาธิบดีวิลสันที่เสนอเมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๑๘ ตามที่ฝ่ายสัมพันธมิตรได้เคยให้คำมั่นสัญญาไว้ แต่ข้อเรียกร้องของเขาก็ถูกปฏิเสธเกือบทั้งหมด มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรยินยอมแก้ไขสนธิสัญญาในมาตราที่เกี่ยวกับดินแดนในจักรวรรดิเยอรมัน (German Empire)* เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งชี้แจงว่าไม่ได้มีการยอมรับหลักการ ๑๔ ข้อ จากประเทศที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการแต่ประการใดทั้งเยอรมนีเองก็ไม่ได้ยอมรับหลักการนี้ เยอรมนีจึงไม่สามารถนำมาอ้างได้ ด้วยเหตุนั้น คณะผู้แทนของเยอรมนีจึงเดินทางกลับประเทศด้วยความโกรธแค้นและอับอาย

 ในเยอรมนี ประชาชนและนักการเมืองกลุ่มต่าง ๆก็ประท้วงและต่อต้านสนธิสัญญาแวร์ซายอย่างรุนแรงแม้แต่รัฐบาลเองก็แสดงท่าทีไม่ยอมรับสนธิสัญญาฉบับนี้ โดยอ้างว่าเป็น “สนธิสัญญาเผด็จการ” และไม่เป็นธรรม ในต้นเดือนมิถุนายนมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรจึงประกาศว่าหากเยอรมนีไม่ยอมลงนามในสนธิสัญญา ฝ่ายสัมพันธมิตรก็จะทำสงครามต่อไปการข่มขู่ดังกล่าวทำให้ฟิลิป ไชเดอมันน์ (Philipp Scheidemann) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐไวมาร์ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่งพร้อมกับบรอคดอร์ฟ-รันท์เซาในวันที่ ๒๐ มิถุนายน เพราะไม่ต้องการลงนามในสนธิสัญญาฉบับนี้ หลังจากนั้นได้มีการจัดตั้งรัฐบาลผสมขึ้นใหม่ โดยมีกุสทาฟ เบาเออร์ (Gustav Bauer) เป็นนายกรัฐมนตรี

 ในทันทีที่เข้ารับตำแหน่งเบาเออร์ได้รับคำแนะนำทั้งจากฟรีดริช เอแบร์ท (Friedrich Ebert)* ประธานาธิบดีสาธารณรัฐไวมาร์และฝ่ายกองทัพว่าเยอรมนีคงต้องยอมลงนามในสนธิสัญญาอย่างแน่นอนเพราะไม่สามารถจะทำสงครามได้อีกต่อไป แต่เบาเออร์ก็ยังไม่ละความพยายาม เขาได้ส่งโทรเลขแจ้งไปยังผู้นำมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรว่าหากลดมาตราบางมาตราที่รุนแรงให้เบาลงหรือถอดออกไปเลย เยอรมนีอาจลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพ แต่มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรกลับยื่นคำขาดให้เยอรมนียอมรับสนธิสัญญามิฉะนั้นฝ่ายสัมพันธมิตรจะโจมตีแคว้นไรน์ ภายใน ๒๔ ชั่วโมง ในวันที่ ๒๓ มิถุนายน เบาเออร์จึงส่งโทรเลขฉบับที่ ๒ แจ้งแก่เกลมองโซว่าเยอรมนีจะส่งผู้แทนไปลงนามในสนธิสัญญาโดยเร็ว

 ในที่สุดแฮร์มันน์ มึลเลอร์ (Hermann Müller) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และโยฮันเนส เบลล์ (Johannes Bell) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอาณานิคมของสาธารณรัฐไวมาร์ในฐานะผู้แทนรัฐบาลเยอรมัน ก็ได้ลงนามในสนธิสัญญาสันติภาพต่อหน้าผู้นำมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรทั้งหมด ณ ห้องโถงกระจกในพระราชวังแวร์ซาย ซึ่งเป็นสถานที่เดียวกันกับการประกาศจัดตั้งจักรวรรดิเยอรมัน ใน ค.ศ. ๑๘๗๑ ในวันที่ ๒๘ มิถุนายน ค.ศ. ๑๙๑๙ ซึ่งตรงกับ วันที่อาร์ชดุ๊กฟรานซิส เฟอร์ดินานด์ (Francis Ferdinand)* มกุฎราชกุมารแห่งจักรวรรดิออสเตรีย-ฮังการี (Austria-Hungarian Empire)* และพระชายาถูกลอบปลงพระชนม์ใน ค.ศ. ๑๙๑๔ อันเป็นชนวนเหตุของการเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๑ รัฐสภาแห่งชาติเยอรมันให้สัตยาบันสนธิสัญญาแวร์ซายเมื่อวันที่ ๙ กรกฎาคม และต่อมามหาอำนาจยุโรปอีก ๓ ประเทศก็ให้สัตยาบันภายใน ค.ศ. ๑๙๑๙ ยกเว้นสหรัฐอเมริกาซึ่งไม่ผ่านการอนุมัติการให้สัตยาบันจากสภาสูง (Senate) แม้ว่าวิลสันจะได้รณรงค์อย่างหนักและเสนอต่อสภาดังกล่าวถึง ๒ ครั้งก็ตาม

 หลังสนธิสัญญามีผลบังคับใช้ในวันที่ ๑๐ มกราคม ค.ศ. ๑๙๒๐ แล้ว มหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรโดยเฉพาะฝรั่งเศสได้บีบบังคับให้เยอรมนีปฏิบัติตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาอย่างเคร่งครัด อย่างไรก็ดี การบังคับใช้สนธิสัญญาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การทหารและอื่น ๆ ก็มีปัญหามาโดยตลอด ในด้านเศรษฐกิจนั้นเยอรมนีภายหลังสงครามมีเศรษฐกิจที่ทรุดโทรมอย่างมาก เพราะได้ใช้ทรัพยากรไปในการสงครามจนเกือบหมด ทั้งยังต้องสูญเสียดินแดนอันมีค่าทางเศรษฐกิจอย่างเช่น อัลซาซ-ลอร์แรน ซาร์ และอัพเพอร์ไซลีเซียให้แก่ประเทศต่าง ๆ ตามเงื่อนไขของสนธิสัญญาแวร์ซายอีกด้วย รายได้ของเยอรมนีได้หายไปเกือบครึ่งหนึ่งของรายได้ทั้งหมดที่เคยได้รับจากอุตสาหกรรมถ่านหินและเหล็กในช่วงก่อนสงครามเยอรมนีจึงไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของตนได้อย่างรวดเร็ว และผิดนัดชำระหนี้ค่าปฏิกรรมสงครามทั้งในรูปของเงินและสิ่งของที่ต้องให้แก่ฝรั่งเศสและเบลเยียมติดต่อกันหลายงวดในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๑ ถึงสิ้น ค.ศ. ๑๙๒๒ ในเดือนมกราคม ค.ศ. ๑๙๒๓ ประเทศทั้งสองจึงได้ส่งกองทัพเข้าไปยึดครองแคว้นรูร์ (Ruhr) ซึ่งเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมถ่านหิน เหล็ก และเหล็กกล้าที่สำคัญของเยอรมนี เพื่อบีบบังคับเยอรมนีให้ใช้หนี้ตามสัญญา ทำให้เกิดวิกฤตการณ์การยึดครองรูร์ (Ruhr Occupation ค.ศ. ๑๙๒๓–๑๙๒๕)* ขึ้นทันที เหตุการณ์ครั้งนี้นอกจากก่อให้เกิดความรุนแรงขึ้นในเยอรมนีแล้วยังมีผลเสียต่อเศรษฐกิจทั้งของผู้ยึดครองและผู้ถูกยึดครองอย่างมิอาจประมาณได้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษซึ่งมีความเห็นใจเยอรมนีอยู่แล้วจึงได้เข้ามาช่วยประนอมหนี้และให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่เยอรมนีภายใต้แผนดอส์ (Dawes Plan)* ค.ศ. ๑๙๒๔ ซึ่งทำให้เยอรมนีสามารถทำการปฏิรูปเงินตราของตนและใช้หนี้ค่าปฏิกรรมสงครามได้ตามกำหนดเวลา การยึดครองรูร์จึงยุติลงใน ค.ศ. ๑๙๒๕ ต่อมาใน ค.ศ. ๑๙๒๙ สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยังได้ให้ความช่วยเหลือแก่เยอรมนีภายใต้แผนยัง (Young Plan) อีกด้วย แต่แผนนี้ไม่ได้ถูกนำไปใช้เพราะเกิดวิกฤตการณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression)* และความวุ่นวายทางการเมืองในเยอรมนีในช่วง ค.ศ. ๑๙๒๙–๑๙๓๒

 ส่วนในด้านการทหาร เยอรมนีก็ได้ละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายแต่ต้น ดังจะเห็นได้จากการยุบเลิกหน่วยเสนาธิการทหารกลางในกองทัพตั้งแต่ ค.ศ. ๑๙๑๙ แต่เยอรมนีก็ยังมีการใช้ระบบเสนาธิการทหารแอบแฝงในกองทัพมาโดยตลอด นอกจากนี้ ในสนธิสัญญาราปัลโล (Treaty of Rapallo)* ค.ศ. ๑๙๒๒ ที่เยอรมนีทำกับสหภาพโซเวียตในขณะนั้นยังมีความตกลงลับที่อนุญาตให้เยอรมนีจัดตั้งโรงงานผลิตอาวุธขึ้นในสหภาพโซเวียตด้วย ซึ่งมีผลให้เยอรมนีมีความแข็งแกร่งทางด้านกำลังอาวุธและเป็นผู้ค้าอาวุธที่สำคัญของยุโรปตะวันตกในเวลาต่อมา

 ในขณะเดียวกันรัฐบาลสาธารณรัฐไวมาร์ในสมัยที่กุสทาฟ ชเตรเซมันน์ (Gustav Stresemann)* เป็นนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศก็ประสบความสำเร็จในการขอแก้ไขสนธิสัญญาแวร์ซายในเรื่องที่เกี่ยวกับการปรับปรุงพรมแดนทางด้านตะวันตกที่ติดต่อกับฝรั่งเศสและเบลเยียมโดยการลงนามร่วมกับประเทศฝ่ายสัมพันธมิตรในสนธิสัญญาโลคาร์โน (Treaties of Locarno)* ค.ศ. ๑๙๒๕ รวม ๗ ฉบับ ซึ่งมีผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างเยอรมนีกับมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรดีขึ้นด้วย

 ในต้นทศวรรษ๑๙๓๐เมื่อฮิตเลอร์ขึ้นมามีอำนาจสูงสุดในเยอรมนี เขาก็ได้ดำเนินการละเมิดสนธิสัญญาแวร์ซายทั้งโดยทางตรงและทางอ้อมหลายครั้ง เพื่อสร้างความยิ่งใหญ่และความแข็งแกร่งให้แก่จักรวรรดิไรค์ที่ ๓ (Third Reich)* ที่เขาจัดตั้งขึ้นโดยนำเงื่อนไขที่รุนแรงและบีบคั้นของสนธิสัญญาอันเป็นที่มาแห่งความทุกข์ยากทั้งปวงของชาวเยอรมันมาเป็นข้ออ้างและหัวข้อในการโฆษณาชวนเชื่อของเขา งานสำคัญของฮิตเลอร์ได้แก่การจัดตั้งโรงเรียนยุวชนทหารขึ้นในโรงเรียนมัธยมศึกษาเกือบทั่วประเทศ เพื่อฝึกหัดเยาวชนไว้เป็นทหารในยามสงคราม นอกจากนี้ ใน ค.ศ. ๑๙๓๕ เขายังจัดให้มีการเกณฑ์ทหารภาคบังคับทั่วประเทศ ถือเป็นการยกเลิกสนธิสัญญาแวร์ซายอย่างเป็นทางการ และใน ค.ศ. ๑๙๓๖ เขาได้ส่งกองทัพเข้าไปยึดครองไรน์แลนด์ ซึ่งเป็นเขตปลอดทหารตามสนธิสัญญาแวร์ซาย โดยไม่หวั่นเกรงการต่อต้านของฝ่ายสัมพันธมิตร ทั้งยังได้ทำการผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี (Anschluss)* โดยใช้กำลังบังคับในเดือนมีนาคม ค.ศ. ๑๙๓๘ อีกด้วย ในขณะเดียวกันฮิตเลอร์ยังฉวยโอกาสจากการใช้นโยบายผ่อนปรนหรือนโยบายเอาใจอักษะประเทศ (Appeasement Policy)* ของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตรในการเจรจาเพื่อทำความตกลงมิวนิก (Munich Agreement)* ค.ศ. ๑๙๓๘ จนได้ซูเดเทนลันด์ (Sudetenland)* จากเชโกสโลวะเกียมาครอบครอง ในที่สุดในเดือนสิงหาคม ค.ศ. ๑๙๓๙ ฮิตเลอร์ก็ได้ลงนามในกติกาสัญญานาซี-โซเวียต (Nazi-Soviet Pact)* ร่วมกับสหภาพโซเวียตเพื่อความร่วมมือทางการทหารและการไม่รุกรานซึ่งกันและกัน กติกาสัญญาดังกล่าวเปิดโอกาสให้เยอรมนีเปิดฉากโจมตีโปแลนด์ในตอนเช้ามืดวันที่ ๑ กันยายน ค.ศ. ๑๙๓๙ ด้วยสงครามสายฟ้าแลบ (Lightning War)* สงครามโลกครั้งที่ ๒ จึงเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ สนธิสัญญาแวร์ซายจึงกลายเป็นเพียง “สนธิสัญญาสงบศึกชั่วคราว” ที่มีอายุเพียง ๒๐ ปี เพราะไม่สามารถป้องกันไม่ให้เกิดสงครามครั้งใหญ่ขึ้นอีก ทั้งไม่ทำให้เยอรมนีอ่อนแอได้ตามความต้องการของมหาอำนาจฝ่ายสัมพันธมิตร.



คำตั้ง
Versailles, Treaty of
คำเทียบ
สนธิสัญญาแวร์ซาย
คำสำคัญ
- กติกาสัญญานาซี-โซเวียต
- กติกาสัญญาสันนิบาตชาติ
- การปฏิวัติเดือนตุลาคม
- การประชุมของผู้แทนทั้งสิบ
- การประชุมของมหาอำนาจทั้งสี่
- การประชุมสันติภาพที่กรุงปารีส
- การผนวกออสเตรียเข้ากับเยอรมนี
- การยึดครองรูร์
- เกลมองโซ, ชอร์ช
- ความตกลงมิวนิก
- จอร์จ, เดวิด ลอยด์
- จอร์จ, ลอยด์
- ฉนวนโปแลนด์
- ชเตรเซมันน์, กุสทาฟ
- ไชเดอมันน์, ฟิลิป
- นโปเลียนที่ ๑
- นโยบายเอาใจอักษะประเทศ
- นาซี
- ปรัชญาวิลสัน
- แผนดอส์
- แผนยัง
- พรรคนาซี
- พรรคแรงงาน
- พรรคแรงงานสังคมนิยมแห่งชาติเยอรมัน
- ฟอช, แฟร์ดีนอง
- ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่
- มหาอำนาจกลาง
- มหาอำนาจสัมพันธมิตร
- มึลเลอร์, แฮร์มันน์
- สงครามโลกครั้งที่ ๑
- สงครามโลกครั้งที่ ๒
- สงครามสายฟ้าแลบ
- สนธิสัญญาเบรสต์-ลิตอฟสค์
- สนธิสัญญาแฟรงก์เฟิร์ต
- สนธิสัญญาราปัลโล
- สนธิสัญญาลอนดอน
- สนธิสัญญาโลคาร์โน
- สนธิสัญญาแวร์ซาย
- สหภาพโซเวียต
- สัญญานาซี-โซเวียต
- สัญญาสงบศึก
- สันนิบาตชาติ
- หลักการ ๑๔ ข้อ
- ออร์ลันโด, วิตโตรีโอ เอมานูเอล
- ออสเตรีย-ฮังการี
- อัลซาซ-ลอร์แรน
- เอแบร์ท, ฟรีดริช
- ฮิตเลอร์, อดอล์ฟ
ช่วงเวลาระบุเป็นคริสต์ศักราช
1919
ช่วงเวลาระบุเป็นพุทธศักราช
พ.ศ. ๒๔๖๒
มัลติมีเดียประกอบ
-
ผู้เขียนคำอธิบาย
วิมลวรรณ ภัทโรดม
บรรณานุกรมคำตั้ง
แหล่งอ้างอิง
-